ในชีวิตเราคงหนีไม่พ้นเรื่องความเสี่ยงภัย เราเผชิญกับความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลาโดยที่เราอาจจะไม่ทันได้นึกถึงและไม่ได้จัดการกับความเสี่ยงภัยอย่างเหมาะสม
วิธีการจัดการกับความเสี่ยงภัยนั้นมีอยู่ 2 ขั้นตอนด้วยกัน
ขั้นตอนที่ 1 คือการ "ควบคุมความเสี่ยงภัย" (Risk Control) จุดมุ่งหมายคือลดโอกาสที่จะเกิดภัยหรือลดความรุนแรงจากความเสียหายในกรณีที่เกิดเหตุขึ้น ยกตัวอย่างเช่น
เวลาเราจะข้ามถนน การเลือกข้ามสะพานลอยหรือทางม้าลายจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่จะถูกรถชนได้เมื่อเปรียบเทียบกับการข้ามถนนในตำแหน่งที่ไม่ได้จัดไว้
เมื่อดื่มเหล้าก็ไม่ควรจะขับรถ เพราะอาการมึนเมานอกจากจะทำให้โอกาสประสบอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นแล้วยังเพิ่มความรุนแรงและความเสียหายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุอีกด้วย
การดูแลรักษาสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารและหมั่นออกกำลังกาย ก็ช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่างๆ ลดโอกาสเจ็บป่วยได้
ขั้นตอนที่ 2 คือการ "จัดหาเงินเพื่อจัดการความเสี่ยงภัย" (Risk Financing) เมื่อเกิดภัยขึ้นย่อมต้องมีความสูญเสีย ความเสียหายซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนั้นจึงต้องมีเงินเพื่อมาชดเชยความสูญเสียเหล่านั้น โดยเรามี 2 ทางเลือกได้แก่
- การรับความเสี่ยงภัยไว้เอง (Risk Retention) พูดง่ายๆ ก็คือเราเก็บออมเงินไว้เพื่อชดเชยความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นเอง ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่เราเจ็บป่วย เป็นหวัดเล็กน้อย ไปหาหมอที่คลินิกจ่ายค่าตรวจค่ายาครั้งละประมาณ 1-2 พันบาท เราอาจมีเงินสำรองเก็บไว้ซัก 5 พันบาทเพื่อใช้จ่ายกรณีดังกล่าว หรือกรณีที่เราตกงาน ขาดรายได้ 3-6 เดือน เราสามารถเก็บสำรองเงินไว้ให้เพียงพอต่อรายจ่ายในช่วง 3-6 เดือนระหว่างที่เราหางานใหม่ เป็นต้น
เทคนิคการรับความเสี่ยงภัยไว้เองมีข้อดีคือมีต้นทุนต่ำ เหมาะสำหรับความเสี่ยงที่มีความรุนแรงไม่มาก ข้อจำกัดคือสำหรับความเสี่ยงที่รุนแรง ความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายสูง เงินสำรองที่เผื่อไว้อาจไม่เพียงพอ
- การโอนความเสี่ยงภัย (Risk Transfer) คือการโอนความเสี่ยงภัยไปยังบุคคลอื่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการประกันภัยนั่นเอง ซึ่งเหมาะสำหรับความเสี่ยงภัยที่มีความรุนแรง ความเสียหายมาก เช่น กรณีที่เราเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรงซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายมากกว่าล้านบาท หากเราเลือกใช้วิธีรับความเสี่ยงไว้เองแปลว่าเราต้องเก็บออมเงินไว้ถึงหลักล้านบาทซึ่งคงใช้เวลาไม่น้อยทีเดียว ในกรณีที่เรายังเก็บออมเงินไม่ถึงแต่ดันป่วยเป็นโรคร้ายแรงเสียก่อนก็กลายเป็นมีเงินไม่เพียงพอจัดการภัยที่เกิดขึ้น แต่หากเราเลือกถ่ายโอนความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันโดยการทำประกันภัยและจ่ายเบี้ยประกันในจำนวนที่น้อยกว่ามากๆ เราจะได้รับความคุ้มครองทันที
เทคนิคการโอนความเสี่ยงภัยเหมาะสมอย่างยิ่งกับการจัดการความเสี่ยงภัยที่มีโอกาสเกิดน้อยแต่มีความรุนแรงมาก ช่วยให้เราสามารถจัดการความเสี่ยงขนาดใหญ่ได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้เวลาเก็บออมเงินนาน โดยที่เราทราบต้นทุนและค่าใช้จ่าย (เบี้ยประกัน) ที่แน่นอน
คงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเหมือนกันว่าเราทุกคนตกอยู่ในความเสี่ยงตลอดเวลา ทั้งการเกิดอุบัติเหตุ การจากไปก่อนวัยอันควร การเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงและความเสี่ยงอื่นๆ ไม่ว่าจะเลือกรับความเสี่ยงไว้เองหรือโอนความเสี่ยงภัยโดยการทำประกัน อย่าลืมขั้นตอนแรก "การควบคุมความเสี่ยงภัย" ด้วยนะครับ เพราะนอกจากจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดภัยแล้วยังช่วยลดความรุนแรง ความสูญเสียได้อีกด้วย