รู้จัก "สินทรัพย์ทางการเงิน (financial asset)"

March 6, 2025

ก่อนอื่นเลยต้องมารู้จักคำว่า "สินทรัพย์ (Asset)" ก่อน ซึ่งหมายถึงสิ่งที่มีมูลค่า ที่ผู้ถือครองสามารถนำไปขายเป็นเงินหรือแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าหรือบริการอื่นได้

จากนิยามข้างต้น สำรวจรอบตัวเราดูสิครับว่าเรามีสินทรัพย์อะไรอยู่บ้าง โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค เงินในกระเป๋าสตางค์ เสื้อผ้าที่เราสวมใส่อยู่ และอื่นๆ อีกมากมายที่เราเป็นเจ้าของล้วนเป็นสินทรัพย์ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าสินทรัพย์เหล่านี้มีมูลค่าไม่สูงนักและมักจะมีมูลค่าลดลงเรื่อยๆ แล้วเราก็ไม่ได้คิดจะขายของเหล่านี้ซักเท่าไร อย่างเราซื้อเสื้อผ้ามาก็ตั้งใจจะสวมใส่เอง พอเก่า ขาด เราอาจจะนำไปบริจาคหรือทิ้งไปเลย ดังนั้นเวลาที่ทำบัญชีสินทรัพย์เราจึงมักจะไม่นับรวมสิ่งเหล่านี้ซักเท่าไร สินทรัพย์ชิ้นใหญ่หน่อยที่เรานึกถึงก็อย่างเช่น บ้าน คอนโด รถยนต์ รถมอเตอร์ไซต์ เหล่านี้ถึงจะถูกนำมาคิดรวม

แต่ทั้งมวลที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นสินทรัพย์ที่ "มีตัวตน (Tangible Asset)" แน่นอนว่ามีจับต้องได้ อีกประเภทคงหนีไม่พ้นสินทรัพย์ที่ "ไม่มีตัวตน (Intangible Asset)" ก็ตามชื่อเลยครับ ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ โดยส่วนมากจะอยู่ในรูปของสิทธิ์ สัญญา ภาระผูกพันธ์ เป็นต้น โดยสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่จะพูดถึงวันนี้เรียกว่า "สินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Asset)" โดย สินทรัพย์ทางการเงิน ที่เป็นที่นิยมได้แก่

1. เงินฝาก - ก็เงินฝากนั่นแหละ เราเอาเงินไปฝากธนาคาร ได้ดอกเบี้ย โอเคตอนเงินมันเป็นธนบัตรอยู่ในมือเราอาจจะบอกว่าเป็นทรัพย์สินที่มีตัวตน แต่พอเราเอาไปฝากธนาคารแล้วถามว่าตัวตนมันอยู่ตรงไหน? มันหายไปแล้วไง สิ่งที่เหลืออาจจะเป็นสมุดบัญชี หรือเดี๋ยวนี้ยิ่งแล้วใหญ่สมุดบัญชีก็ไม่มี มีแต่ตัวเลขโชว์อยู่ในแอพฯ แต่สิ่งนี้แหละคือภาระผูกพันที่ธนาคารมีต่อเรา ถ้าตัวเลขบัญชีโชว์ว่าเรามีเงิน 5,000 บาท แปลว่าวันไหนที่เราจะถอน ธนาคารก็ต้องเอาเงิน 5,000 บาทนี้มาให้เรา เงินฝากจึงนับเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่เราๆ น่าจะคุ้นเคยมากที่สุด

2. ตราสารหนี้ - ถ้าออกโดยภาครัฐก็เรียกว่าพันธบัตร ถ้าออกโดยภาคเอกชนจะเรียนว่าหุ้นกู้ แต่โดยหลักก็คือเป็นสินทรัพย์ที่ใช้หลักการการเป็นเจ้าหนี้-ลูกหนี้ สมมติง่ายๆ เราให้เพื่อนเรากู้เงินไป 10,000 บาท อย่างนี้ก็คือเรามีสินทรัพย์อยู่ 10,000 บาทนะ เพราะเพื่อนเรามีภาระผูกพันที่จะต้องคืนเงินเราในจำนวนนี้ อีกทั้งในระหว่างทางยังอาจต้องจ่ายดอกเบี้ยให้เราด้วย ตราสารหนี้ก็เป็นลักษณะเดียวกัน ถ้าเราเป็นผู้ถือตราสารหนี้ ก็คือเรามีสินทรัพย์ โดยมีสิทธิ์เหนือผู้ออกตราสารหนี้ซึ่งเป็นลูกหนี้เรา สมมติเราซื้อพันธบัตรจากรัฐบาล 20,000 บาท ก็คือรัฐบาลติดหนี้เราอยู่ 20,000 บาท (อย่างเท่) เท่ากับเรามีสินทรัพย์มูลค่า 20,000 บาทอยู่ในรูปพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งสินทรัพย์นี้จ่ายผลตอบแทนให้เราด้วย ในรูปของดอกเบี้ย

3. ตราสารทุน - หลักๆ เลยก็คือ หุ้นสามัญ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "หุ้น" นั่นแหละ เวลาเราไปซื้อหุ้นก็ถือว่าเราเป็นเจ้าของกิจการนั้นๆ เพียงแต่จำนวนหุ้นที่เราถืออยู่อาจเป็นสัดส่วนน้อยนิดเมื่อเทียบกับทั้งกิจการ ถึงกระนั้นผลตอบแทนที่ได้รับก็จะเป็นในรูปของเจ้าของกิจการอยู่ดี ก็คือเวลากิจการมีกำไร หลังหักค่าใช้จ่ายนู่นนี่จนหมดก็คือเนี่ยแหละกำไรของเราโดยบริษัทอาจจ่ายออกมาให้เราในรูปของ "เงินปันผล" หรือถ้าบริษัทเห็นโอกาสว่าสามารถนำกำไรนั้นมาขยายกิจการต่อไปได้อาจจะไม่จ่ายปันผลออกมา กรณีนี้นักลงทุนก็ได้ผลตอบแทนจากมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นแทน แต่ทางกลับกันถ้าปีนั้นขาดทุนก็เท่ากับเราไม่ได้อะไรจากการลงทุนเลย อีกทั้งมูลค่าหุ้นที่เราถือไว้ยังจะลดลงอีกด้วย

4. ตราสารอนุพันธ์ - เป็นภาระผูกพันในรูปสัญญาหรือสิทธิประโยชน์ในอนาคต อันนี้ตีเป็นมูลค่าค่อนข้างยากหน่อย สมมติเราไปมีตราสารอนุพันธ์ที่เป็นสัญญาแลกเงินเหรียญสหรัฐที่อัตรา 35 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐในวันที่ 1 มกราคมปีหน้า พอถึงวันที่ 1 มกราคม จริงๆ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 40 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับว่าเราก็ได้กำไรมา 5 บาท กลับกันถ้าถึงวันนั้นอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30 บาท เท่ากับเราขาดทุนไป 5 บาทนั่นเอง

สินทรัพย์ทางการเงินเป็นที่นิยมสำหรับนักลงทุนในปัจจุบัน เนื่องจากมีมาตรฐาน มีหน่วยงานกำกับดูแล ซื้อ-ขายเปลี่ยนมือกันสะดวก นอกจากนี้การลงทุนในกองทุนรวมก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก โดยที่ผมไม่ระบุกองทุนรวมไว้เป็นสินทรัพย์ทางการเงินในที่นี้ก็เพราะว่าจริงๆ แล้วกองทุนรวมก็นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น เงินฝาก ตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือตราสารอนุพันธ์อีกทีนึงนั่นเอง

อยากมีสินทรัพย์เป็นของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องไปซื้อบ้าน ซื้อรถ ใช้วิธีสะสมสินทรัพย์ทางการเงินเอาอาจเหมาะสมกับเรามากกว่าก็ได้

← กลับไปหน้ารวมบทความ