ปู๊น ปู๊น! เข้าใจแบบประกันหลักและสัญญาเพิ่มเติมด้วยขบวนรถไฟ

March 6, 2025

ผมเชื่อว่าความรู้เกี่ยวกับประกันนั้นสำคัญ หากเราเข้าใจจะช่วยให้เราวางแผนทำประกันได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น วันนี้จึงนำความรู้เกี่ยวกับสัญญาประกันภัยมาฝากกันครับ

ในขบวนรถไฟนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือส่วน "หัวรถจักร" และ "ตู้โดยสาร"

หัวรถจักร - เป็นส่วนที่สำคัญสำหรับรถไฟ เป็นส่วนที่ขับเคลื่อนขบวนรถไฟให้เคลื่อนที่ไปได้ หากเปรียบกับสัญญาประกันภัยจะเปรียบได้กับ "สัญญาหลัก" ซึ่งเป็นส่วนที่เน้นความคุ้มครองชีวิตเป็นหลัก

สัญญาหลัก ของประกันชีวิตแบ่งเป็น 4 แบบ ด้วยกันได้แก่

1. แบบตลอดชีพ

2. แบบชั่วระยะเวลา

3. แบบสะสมทรัพย์

4. แบบบำนาญ

สัญญาหลักจะมีกำหนดระยะเวลาชำระเบี้ยและระยะเวลาคุ้มครองซึ่งอาจจะเท่ากับระยะเวลาชำระเบี้ยหรือยาวนานกว่าก็ได้ เช่น ชำระเบี้ย 20 ปี คุ้มครองตลอดชีวิต เป็นต้น โดยที่เบี้ยประกันจะเป็นอัตราคงที่ ปีแรกจ่ายเบี้ยเท่าไรปีต่อๆ ไปก็จ่ายเท่าเดิม

ตู้โดยสาร - เป็นส่วนที่จะต้องถูกหัวรถจักรลากไป ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตนเอง เปรียบได้กับ "สัญญาเพิ่มเติม (Rider)" ซึ่งไม่สามารถซื้อแยกเดี่ยวๆ ได้ จำเป็นต้องมีสัญญาหลักก่อน

สัญญาเพิ่มเติมของประกันชีวิตมีหลายแบบ อาทิ ประกันสุขภาพ (ค่ารักษาพยาบาล) โรคร้ายแรง ชดเชยรายได้ ทุพพลภาพ อุบัติเหตุ เป็นต้น

สัญญาเพิ่มเติมจะมีการคุ้มครองแบบปีต่อปี อัตราเบี้ยจะเพิ่มขึ้นตามอายุของผู้เอาประกัน ยิ่งอายุมากยิ่งมีแนวโน้มต้องชำระเบี้ยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นนั่นเอง

เมื่อวางแผนทำประกัน เราควรเลือกหัวรถจักรหรือสัญญาหลักให้เหมาะสม เนื่องจากเมื่อสัญญาหลักสิ้นสุดอายุสัญญา แม้เราต้องการความคุ้มครองจากสัญญาเพิ่มเติมต่อไป ก็ไม่สามารถต่ออายุต่อไปได้เนื่องจากไม่มีหัวรถจักรแล้ว จำเป็นต้องทำประกันใหม่ ผ่านกระบวณการพิจารณาอนุมัติใหม่ ซึ่งตอนนั้นเราอาจจะอายุมากแล้ว หากเรามีประวัติสุขภาพหรือเคยเป็นโรคบางอย่างมาแล้วด้วย อาจถูกยกเว้นความคุ้มครอง ถูกเพิ่มเบี้ยประกันหรือไม่ได้รับการอนุมัติกรมธรรม์ไปเลย

← กลับไปหน้ารวมบทความ