วางแผนการเงินฉบับคู่รัก

January 15, 2025

ทำไมใช้เงินฟุ่มเฟือยจังเลยล่ะ? ประหยัดหน่อยสิ

เงินชั้นก็หามาเองจะใช้ยังไงก็เรื่องของชั้นสิ

เรื่องเงินๆ ทองๆ ไม่เข้าใครออกใคร แน่นอนว่าสำหรับชีวิตคู่ก็เหมือนกัน สมัยเป็นแฟนคบกันเฉยๆ อาจจะยังไม่มีปัญหาอะไร แต่พอใช้ชีวิตร่วมกันจริงๆ แล้วย่อมต้องมีความรับผิดชอบบางอย่างร่วมกัน แล้วต่างคนต่างก็เติบโตมาแตกต่างกัน อาจมีทัศนคติ มีมุมมองเรื่องเงินแตกต่างกันซึ่งนำไปสู่ความไม่เข้าใจกันได้

พอพูดว่าวางแผนร่วมกัน ย่อมต้องมีคำว่า "เรา" มากขึ้นและมีความว่า "ฉัน" และ "เธอ" น้อยลง แต่แค่ไหนคือความพอดี? ทำอย่างไรถึงจะวางแผนร่วมกันได้โดยที่ต่างคนต่างยังมีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองอยู่? คำแนะนำของผมคือส่วนที่ต้องวางแผนร่วมกันจริงๆ มีอยู่ 2 ส่วนด้วยได้ นั่นคือ

1. วางแผนค่าใช้จ่ายร่วมกัน

ส่วนนี้เราจะคิดเฉพาะค่าใช้จ่ายที่มีร่วมกันเท่านั้น อาทิ ค่าเช่าบ้านหรือผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำ ไฟ สาธารณูปโภคต่างๆ รวมไปถึงค่าของแห้ง ของที่เราไปซื้อจากซูเปอร์มาเก็ตเพื่อมาใช้ในบ้านร่วมกัน ลองเขียนรายการค่าใช้จ่ายเหล่านี้ออกมาให้หมด ซึ่งต้องแล้วแต่ครอบครัวด้วย บางครอบครัวบอกว่ามีรถคนละคัน ต่างคนต่างรับผิดชอบรถของตัวเอง กรณีนี้ค่าผ่อนรถก็อาจจะไม่ได้นับว่าเป็นค่าใช้จ่ายร่วม แต่เป็นของส่วนตัวของใครของมัน

พอมีรายการค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว ก็แบ่งความรับผิดชอบกันไป อาจจะหารกันครึ่งๆ หรือแบ่งตามสัดส่วน เธอเงินเดือนเยอะกว่า เธอช่วยจ่ายเยอะหน่อยได้มั้ย หรือแบ่งรายการกันไป เช่นเธอผ่อนบ้าน เดี๋ยวชั้นจ่ายค่าสาธารณูปโภคกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกจากนี้อาจตกลงกันว่าจะจ่ายอย่างไร เช่น ใครรับผิดชอบอะไรก็ไปจ่ายเอง หรือว่าจ่ายเข้ามากองกลางแล้วใครคนหนึ่งรับผิดชอบเอาเงินกองกลางไปจ่าย ก็แล้วแต่จะตกลงกัน

2. วางแผนการออมร่วมกัน

เมื่อคนสองคนตกลงจะใช้ชีวิตร่วมกัน ย่อมต้องคาดหวังว่าจะใช้ชีวิตร่วมกันในระยะยาว และมีเป้าหมายในชีวิตบางอย่างร่วมกันด้วย ซึ่งเป้าหมายนั้นมักจะมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เช่น อยากจะมีลูกด้วยกัน สมัยนี้มีลูกซักคนก็มีค่าใช้จ่ายไม่น้อย ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ ค่าคลอด ค่าเลี้ยงดู อาจจะต้องปรับปรุง/ต่อเติมบ้าน ซื้อเฟอร์นิเจอร์เพิ่มเติม ไปจนถึงค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ทั้งหมดทั้งมวลแล้วอาจต้องออมเงินไว้แต่เนิ่นๆ หรือว่าขณะนี้ยังเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน แต่ฝันว่าวันหนึ่งข้างหน้าจะมีบ้านเป็นของตัวเองซักหลัง ก็คงต้องช่วยกันเก็บออม ไปจนถึงการวางแผนเพื่อวัยเกษียณร่วมกัน หลังเกษียณจะอยู่ร่วมกันอย่างไร อยู่ในเมืองหรือนอกเมือง จะใช้เงินเท่าไร ต้องเก็บเงินไว้เท่าไร

เมื่อมีเป้าหมายแล้ว ประเมินยอดเงินที่ต้องการเพื่อให้เป้าหมายเป็นจริงแล้ว ก็มาแบ่งงานกันอีกที ใครจะต้องออมเท่าไร ออมอย่างไรคุยตกลงกันให้ชัดเจน

จะเห็นว่าถ้าหากได้วางแผนทั้ง 2 ประเด็นนี้ร่วมกันแล้ว ย่อมเท่ากับต่างฝ่ายต่างมีส่วนรับผิดชอบอย่างชัดเจน เงินส่วนที่เหลือย่อมเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะบริหารจัดการ ในเมื่อชั้นจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนของชั้นแล้ว ออมเข้ากองกลางตามที่ตกลงแล้ว ส่วนที่เหลือชั้นจะซื้ออะไรก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นรึเปล่า บางคู่บอกว่าไม่อยากให้อีกฝ่ายรู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองได้เงินเดือนเท่าไร ก็ไม่เป็นไร ก็เอาแค่ส่วนกลางนี่จะจ่ายเท่าไร จะออมเท่าไรก็แล้วกัน ได้เท่าไรเหลือเท่าไรไม่ต้องแจกแจงกันก็ได้

อันที่จริงความสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ส่วนตัวผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือการสื่อสาร ยิ่งพูดกันยิ่งเข้าใจ อย่าให้ต่างฝ่ายต่างคิดไปเองจนสุดท้ายกลายเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ทัน

ใครมีความคิดเห็นหรือมีเทคนิคอย่างไรก็แชร์กันได้นะครับ อยากรู้เหมือนกันว่าแต่ละบ้านมีปัญหา หรือมีวิธีการจัดการอย่างไรกันบ้าง

← กลับไปหน้ารวมบทความ