อัตราเงินเฟ้อกับแผนออมเกษียณ

February 27, 2025

หลังเกษียณต้องใช้เงินเท่าไร?

คิดเงินเฟ้อยังไง?

ใช้อัตราเงินเฟ้อเท่าไรดี?

จะแน่ใจได้อย่างไรว่าไม่มากไปไม่น้อยไป?

เวลาวางแผนเกษียณ สิ่งแรกที่จะต้องมาคิดกันคือค่าใช้จ่ายต่อเดือนในช่วงวัยเกษียณ ผมมักจะตั้งคำถามว่ามอง "คุณภาพชีวิต" ในช่วงหลังเกษียณเป็นอย่างไร เหมือนทุกวันนี้มั้ย? หรือคิดว่าจะใช้เงินน้อย อยู่อย่างพอเพียง หรือคิดว่าอยากอยู่อย่างสบาย อยากเที่ยวได้เที่ยว อยากกินได้กิน พอมองเห็นภาพชัดเจนขึ้น ก็จะสามารถคิดคำนวณค่าใช้จ่ายไปทีละเรื่องได้อย่างเหมาะสม ทั้งค่ากิน ค่าที่อยู่อาศัย ค่าเดินทาง ช้อปปิ้ง ท่องเที่ยว รวมไปถึงค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลสุขภาพ

สมมติเราคิดว่าจะใช้ชีวิตใกล้เคียงกับปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันใช้ประมาณเดือนละ 20,000 บาทก็เพียงพอ แต่ในอนาคตอีก 20-30 ปีข้างหน้า "ราคา" ของสิ่งต่างๆ จะแพงขึ้น โดยแม้ว่าเราจะใช้ชีวิตแบบเดิม อยู่บ้านหลังเดิม กินข้าวแกงร้านเดิม ช้อปปิ้งเท่าเดิม ท่องเที่ยวแบบเดิม แต่เราจำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้นเนื่องมาจาก "เงินเฟ้อ"

สมมติว่าเงินเฟ้อ 3% ต่อปี แปลว่าถ้าปีนี้เราใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท ในปีถัดไป เพื่อที่เราจะใช้ชีวิตแบบเดิม กินข้าวร้านเดิม เช่าบ้านหลังเดิม เราจะต้องใช้เงินต่อเดือนเพิ่มขึ้น 3% กลายเป็น 20,600 บาท ปีถัดไปอีกจะต้องใช้เงิน 21,218 บาท และ 21,855 บาท เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณทุกๆ ปี ในเวลา 30 ปี จะกลายเป็น 48,545 บาทต่อปี เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวเลยทีเดียว

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยประมาณ 2-3% ต่อปี แต่ที่น่าสนใจคือปีที่ผ่านมาแค่ปีเดียวมีอัตราเงินเฟ้อมากถึง 7% ถามว่าแล้วแผนของเราควรเลือกใช้อัตราเงินเฟ้อที่เท่าไรดี แน่นอนว่ายิ่งเลือกใช้อัตราสูงเช่น 5-7% ก็ยิ่งได้แผนที่ปลอดภัยมาก แต่ก็อาจทำให้ยอดเงินที่ต้องเก็บออมเพื่อเกษียณ ใหญ่โตจนน่าท้อใจ พาลจะเลิกวางแผนเอาได้ แต่ถ้าใช้อัตราเงินเฟ้อน้อยเกินไปก็อาจจะทำให้แม้เก็บเงินได้ตามแผน แต่ปรากฎว่าเงินไม่พอใช้อยู่ดี เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร?

ผมแนะนำให้เลือกใช้อัตราเงินเฟ้อที่ 3-4% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตรากลางๆ ความเสี่ยงว่าจะเก็บเงินไม่พอมีไม่มาก แล้วยอดเงินก็ไม่ใหญ่โตจนน่าท้อใจ

ถึงกระนั้นก็ยังไม่มั่นใจอยู่ดีใช่มั้ยครับ ถ้าอยากมั่นใจในแผนที่เราวางไว้ สิ่งสำคัญคือต้องหมั่นติดตามและประเมินผลครับ สมมติว่าแผนของเราเลือกใช้อัตราเงินเฟ้อที่ 3% ต่อปี เราสามารถติดตามได้ว่าหลังจากผ่านไป 3 ปี ผ่านไป 5 ปี ผ่านไป 10 ปี หากเราใช้ชีวิตในระดับที่เราวางแผนไว้ เรามีค่าใช้จ่ายตรงตามแผนที่คิดไว้หรือไม่ เช่น จากเดิมเราใช้เดือนละ 20,000 บาท เมื่อผ่านไป 10 ปี เราจะใช้เงินเดือนละ 26,878 บาท เพื่อรักษาระดับการใช้ชีวิตแบบเดิมไว้ ถ้าตอนนั้นคุณใช้เงินเท่านี้หรือน้อยกว่านี้ก็พออุ่นใจได้แล้วครับว่าเป็นไปตามแผน แต่ถ้าใช้มากกว่านี้ต้องลองพิจารณาดูว่า เป็นเพราะอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ หรือเป็นเพราะเรายกระดับคุณภาพชีวิตเราสูงกว่าเดิมทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะต้องมาพิจารณาปรับแผนการออมเกษียณใหม่เพื่อให้สอดคล้องกัน

อย่างไรก็ตามการคำนวณทั้งเรื่องเงินเฟ้อ ทั้งเรื่องการวางแผนการออมและการลงทุนเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายเกษียณอาจเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความเข้าใจและเวลา แนะนำว่าการมีที่ปรึกษาการเงินจะช่วยได้มากเลยครับ

← กลับไปหน้ารวมบทความ